กัญชาทางการแพทย์ ตอนที่ 3

กัญชาทางการแพทย์ ตอนที่ 3
(ผลกระทบของกัญชากับการขับรถ)

    เราได้เห็นตัวอย่าง ความน่าจะเป็นในการนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ และเราได้รับทราบแนวโน้มการใช้ในด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยา อาหาร และกัญชาในรูปแบบอื่นๆ

    ในวันนี้ จะสลับนำเรื่องที่เป็นภาวะแทรกซ้อน ซึ่งทุกท่านพอจะทราบมาไม่มากก็น้อย แต่สิ่งที่ผมจะนำเสนอ คือ ภาวะแทรกซ้อนในเรื่องการขับขี่ ซึ่งครั้งนี้ไม่ได้มีอันตรายแต่เพียงผู้เสพหรือผู้ใช้ แต่อาจจะนำอันตรายไปสู่คนรอบข้าง

    ในเรื่องการขับขี่ มีรายงานการศึกษาไม่น้อย แต่ผมจะยกตัวอย่างของการศึกษาในประเทศแคนนาดา โดย Bruna Brands  และคณะ ในเรื่อง Acute and residual effects of smoked cannabis: Impact on driving speed and lateral control, heart rate, and self-reported drug effects Drug Alcohol Depend. 2019 เป็นการศึกษาแบบสุ่ม ในผู้ที่สูบกัญชาเพื่อดูผลทันที และผลที่เหลือเมื่อระยะเวลาที่ผ่านไป ในการจำลองการขับขี่ เป็นการทดลองในผู้ที่อายุ 19-25 ปี การประเมินกระทำที่เวลา 30 นาที 24และ48 ชั่วโมง ผลในเรื่องความเร็ว จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเวลา 30 นาที และอาจจะมีผลกระทบ ในเรื่องการควบคุม แม้ไม่ได้ชัดเจนก็ตาม อย่างไรก็ตามแต่จะไม่แตกต่าง เมื่อเวลาผ่านไปในระยะ 1-2 วัน

     ในประเทศแคนนาดา ได้ให้ความสำคัญ ในการกำหนดกฎหมายเรื่องกัญชากับการขับรถ เพราะมีรายงานการศึกษาอื่นๆ ที่แสดงว่า ผลของกัญชากระทบ ต่อความสามารถในการขับขี่ ทั้งเรื่องความตื่นเต้น การรู้สึกด้านความลึก หรือภาพสามมิติ ปฏิกิริยาตอบสนองที่ช้าลง

(Source: Clearing the Smoke on Cannabis Cannabis Use and Driving – An Update. Canadian Centre on Substance Use and Addiction. Douglas J. Beirness, Ph.D., Senior Research Associate, CCSA, Amy J. Porath, Ph.D., Director, Research and Policy, CCSA.)

     ดังนั้น โดยความคิดเห็นส่วนตัวของผม แม้ในบางรายงาน หรือกฎหมายบางประเทศ ที่กำหนดระดับกัญชาในการอนุญาตให้ขับขี่ แม้ในการทดสอบจะเป็นวิธีการบริโภค โดยการสูบและยังต้องรอการศึกศสอื่นๆ แต่ ผมเห็นว่า ไม่ควรขับรถที่ไม่จำเป็นในทุกรณี โดยเฉพาะเมื่อเพิ่งได้รับกัญชา เพราะไม่ใช่ภาวะแทรกซ้อนเฉพาะบุคคล แต่เป็นเรื่องของครอบครัว และสังคม เป็นเรื่องอุบัติเหตุ ที่ก่อผลเสียไม่อาจคาดเดาได้

ศ.นพ.พิทยภูมิ ภัทรนุธาพร

Post Views: 2,076
Language »