จริงหรือไม่ ที่คนในครอบครัวเป็นมะเร็งแล้วเราจะเป็นมะเร็ง

จริงหรือไม่ ที่คนในครอบครัวเป็นมะเร็งแล้วเราจะเป็นมะเร็ง

   ขึ้นชื่อว่า “มะเร็ง” ใครเป็นก็กังวล ความกังวลนี้ไม่ได้เฉพาะที่เกี่ยวกับโรคที่เป็นเท่านั้น ยังกังวลไปถึงคนในครอบครัวด้วย เพราะเคยได้ยินว่ามะเร็ง ส่งต่อกันในครอบครัว “จริงหรือไม่ ที่คนในครอบครัวเป็นมะเร็ง แล้วเราจะเป็นมะเร็ง” ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “มะเร็งเกิดจากความผิดปกติของยีน หรือสารพันธุกรรมที่มีการกลายพันธุ์ไป” ทำให้กระบวนการเติบโตของเซลล์ผิดปกติ มีการแบ่งตัวไปเรื่อยๆ และไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้อวัยวะที่มียีนผิดปกตินั้นเป็นมะเร็ง และอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่นได้ แล้วยีนหรือสารพันธุ์กรรมในร่างกายของเรา ผิดปกติด้วยสาเหตุอะไร 

สาเหตุที่ยีนผิดปกติ มีหลายประการ เช่น 

  • อายุ อายุที่มากขึ้น กระบวนการสร้างเซลล์มีโอกาสผิดปกติได้มากขึ้น
  • แอลกฮอล์ เมื่อร่างกายย่อยแอลกอฮอล์ จะเกิดสารก่อมะเร็งขึ้นและยังส่งผลทางอ้อมในการก่อมะเร็งในหลายกลไก เช่น ลดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผลให้เกิดมะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งช่องปาก มะเร็งทางเดินอาหาร
  • บุหรี่มี Nitrosamines ที่เป็นสารก่อมะเร็ง ส่งผลให้เกิดมะเร็งได้มากมาย เช่น มะเร็งปอด มะเร็งปากและลำคอ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลอดอาหาร
  • แสงแดดมี UV ที่ทำลาย DNA ของเซลล์ผิว หากเราสัมผัสแดดจัด ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดมะเร็งผิวหนัง
  • ประวัติครอบครัว ยีนบางชนิดที่ถ่ายทอดมาในครอบครัว เป็นยีนที่ผิดปกติ ทำให้มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้ หากได้รับการกระตุ้นจากปัจจัยอื่นร่วมด้วย หรืออายุที่มากขึ้น

     จะเห็นได้ว่า ยีนที่ปกติ เมื่อได้รับการกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก ก็สามารถกลายเป็นยีนที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ นั้นหมายความว่า คนที่ไม่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง แต่ได้รับการกระตุ้นด้วยปัจจัยบางอย่างก็อาจเกิดเป็นมะเร็งขึ้นได้ ในขณะเดียวกันผู้ที่มียีนที่ผิดปกติก็ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นมะเร็งเสมอไป แต่ต้องยอมรับว่ามีโอกาสในการเป็นมะเร็งที่ได้รับการถ่ายทอดมามากกว่าคนทั้วไป เราสามารถเปลี่ยนความกังวลให้เป็นความรู้เท่าทันได้ เช่น หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง เราควรระมัดระวังตัวในการสัมผัสกับปัจจัยที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น งดเหล้า ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงแดดจัด และตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอและควรตรวจตั้งแต่อายุยังน้อยๆ เพราะต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่นๆ ถึงแม้มะเร็งส่วนมากจะป้องกันไม่ได้ แต่เฝ้าระวังได้หากรู้เท่าทัน มะเร็งทุกชนิด หากรู้เร็ว มีโอาสหายได้

ที่มา: • https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4074821/
• https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5618242/
• https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/9343491/

Copyright © 2022 Sriracha Canceralliance Hospital.

Post Views: 11,707
Language »