ทางเลือกที่ใช่หลับสบายคลายปวดเรื้อรัง

ทางเลือกที่ใช่หลับสบายคลายปวดเรื้อรัง

   “นอนไม่หลับมาหลายปี ต้องกินยานอนหลับบ่อยๆ ทำยังไงดี” “นอนหลับๆตื่นๆ ปวดเมื่อยไปหมด ต้องตื่นกลางดึก มีวิธีรักษาอะไรบ้าง” ถ้าคุณประสบปัญหาดังกล่าว ทั้งการนอนไม่หลับ หรือหลับอย่างไม่มีคุณภาพ ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งร่างกายและจิตใจ

   การแก้ปัญหานอนไม่หลับ เริ่มได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและยังมีทางเลือกอื่นๆที่สามารถรักษาบำบัดอาการนอนหลับอย่างได้ผลและมีความปลอดภัย เช่น การนวดกดจุดโดยแพทย์แผนไทยประยุกต์
แพทย์แผนไทยมองว่าการนอนไม่หลับ เกิดจากการติดขัดของธาตุลม การนวดกดจุดจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อช่วยให้หลับสบาย โดยเฉพาะในผู้ที่นอนไม่หลับ และมีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อร่วมด้วย โดยจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลม ช่วยผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล และกระตุ้นการหลั่งสารเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งสามารถช่วยเรื่องการนอนหลับให้ดีขึ้น

    นอนหลับสบาย ด้วยตำรับยาที่มีส่วนผสมของกัญชา​ปัจจุบันมีการปลดล็อก เพื่อใช้กัญชาทางการแพทย์ “ตำรับยาศุขไสยาศน์” จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาการนอนไม่หลับ โดยพบว่าทำให้ผู้ป่วยนอนหลับดีขึ้นร้อยละ 96.67 เนื่องจากเป็นยาที่มีรสสุขมออกร้อน สามารถกระจายลม กระตุ้นให้ระบบประสาททำงานดีขึ้น รวมทั้งส่วนประกอบของตำรับยายังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เกี่ยวกับการนอนหลับ ไม่ว่าจะเป็น กัญชา และขิงแห้ง และยังมีฤทธิ์ต้านอาการวิตกกังวล ได้แก่ ดีปลี สะเดา และลูกจันทน์ เป็นต้น

    ยาหอมรสสุขุม แก้ปัญหาการนอนไม่หลับ ปรับสมดุล ยาหอมเป็นยาที่นำมาใช้ปรับสมดุลธาตุ โดยมีส่วนประกอบหลักเป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมหลากหลายชนิด ใช้สำหรับอาการวิงเวียน หงุดหงิด กังวล นอนไม่หลับ โดยเฉพาะ “ยาหอมเทพจิตร” เป็นหนึ่งในตำรับยาที่ใช้สำหรับอาการนอนไม่หลับ และช่วยคลายความกังวล ซึ่งเทพจิตรมีส่วนประกอบของมะลิมากกว่า 50 % โดยน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิมีฤทธิ์กระตุ้นให้จิตใจสดชื่น นอกจากนี้สารสกัดของผิวส้มยังมีฤทธิ์คลายกังวล และมีฤทธิ์สงบระงับประสาทอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีหัตถการอื่นๆ ที่ช่วยเรื่องการนอนหลับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวางแผนการรักษา โดยแพทย์แผนไทยประยุกต์ เนื่องจากปัญหาและอาการแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน

พทป.ประวีร์กร นิธิประภาวัฒน์
แผนกกัญชาทางการแพทย์

ที่มา : พินิต ชินสร้อย และ กรนิษฐ์ แมลงภู่ทอง. (2563). นวดไทยกับการบำบัดนอนไม่. การประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 17. (หน้า 104–110). นนทบุรี
รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล. (2555). จะเลือกใช้ยาหอม อย่างไรถึงจะดี. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565, จาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/103/
ศศิพงค์ ทิพย์รัชดาพร. (2564). การประเมินประโยชน์และความปลอดภัยจากการใช้ตำรับยาแผนไทยเข้ากัญชา ณ คลินิกหางกระรอก โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร:กรณีศึกษาตำรับยาศุขไสยาศน์. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565, จาก http://www.arjarohospital.go.th/index…/2021-02-23-13-22-58.

Post Views: 10,803
Language »