ป้องกันช่องคลอดตีบ ด้วยการพบแพทย์ตามนัดหลังรักษามะเร็งปากมดลูก

ป้องกันช่องคลอดตีบ ด้วยการพบแพทย์ตามนัดหลังรักษามะเร็งปากมดลูก

   มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่รักษาได้ไม่ว่าจะอยู่ในระยะใด ตั้งแต่ระยะ 0 ถึงระยะ 4  โดยการรักษาหลักของมะเร็งปากมดลูกผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยรังสีรักษา ซึ่งหมายถึงการฉายแสงจากภายนอกและการใส่แร่ และหลังจบการรักษาแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำในการดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงจากการรักษา และภาวะที่ควรระวังที่อาจเกิดขึ้นคือภาวะช่องคลอดตีบ ซึ่งเป็นภาวะที่ผนังช่องคลอดไม่สามารถยืดหยุ่นได้ตามที่ควรจะเป็น ส่งผลให้

  1. ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้
  2. ไม่สามารถตรวจภายในเพื่อติดตามมะเร็งปากมดลูกได้

    การป้องกันช่องคลอดตีบ ต้องทำหลังจากใส่แร่ครั้งสุดท้ายครบไม่เกิน 1 เดือน โดยพยาบาลที่ดูแลการใส่แร่ จะแนะนำว่าควรเริ่มวันไหน  และต้องทำไปตลอดชีวิต

คำแนะนำในการป้องกันช่องคลอดตีบ

  1. มีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัย และเจลหล่อลื่น
  2. ใช้นิ้วมือ โดยตัดเล็บสั้น ล้างมือให้สะอาด ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางทาเจลหล่อลื่นที่นิ้ว สอดช่องคลอดลึกจนสุดนิ้ว กางนิ้วชี้และนิ้วกลางให้ห่างกันประมาณ 5 ซม. หมุนไปมาประมาณ 5-10 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
  3. ใช้อุปกรณ์ถ่างขยายช่องคลอด การเลือกอุปกรณ์ควรอยู่ภายใต้การแนะนำของแพทย์

    ถึงแม้ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำและพยายามทำตามคำแนะนำแล้ว  ก็ยังอาจจะเกิดภาวะช่องคลอดตีบได้ตามความไวของเนื้อเยื่อแต่ละบุคคล ดังนั้นการตรวจติดตามนอกจากแพทย์จะต้องมองเห็นปากมดลูกผ่านทางช่องคลอดได้  แพทย์จะพิจารณาว่าวิธีการที่ผู้ป่วยปฏิบัติอยู่หากยังไม่เพียงพอสำหรับการป้องกันช่องคลอดตีบ แพทย์จะให้คำแนะนำเพิ่มเติม

การพบแพทย์ตามนัดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอหลังการรักษาจบแล้ว   และยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะที่ทำให้ต้องได้รับรักษาอย่างอื่นเพิ่มเติมอีกในภายหลัง

Post Views: 559
Language »