ภาวะทุพโภชนาการในผู้ป่วยมะเร็ง

     ผู้ป่วยมะเร็งมักมีภาวะทุพโภชนาการจากหลายสาเหตุ ทั้งจากตัวโรคเอง และความวิตกกังวล ความเครียด รวมถึงวิธีการรักษา โดยวิธีการหลักในการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน ได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี (หรือการฉายแสง) และการให้ยาเคมีบำบัด สามารถส่งผลต่อภาวะโภชนาการของผู้ป่วยได้ในทุกวิธีการรักษา ผลดังกล่าวเช่น อาการคลื่นไส้ การสูญเสียการรับรส ไม่อยากทานอาหาร เจ็บบริเวณปากและลำคอทำให้ทานอาหารไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลต่อภาวะโภชนาการ และส่งผลต่อการรักษาได้

    การได้รับสารอาหารไม่เพียงพอมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ เมื่อได้รับเชื้อโรคจากสิ่งแวดล้อมทั่วไป ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายจะสามารถกำจัดเชื้อโรคได้เอง แต่เมื่อภูมิคุ้มกันต่ำ อาจทำให้ติดเชื้อรุนแรงได้ จนอาจทำให้ต้องชะลอการรักษามะเร็ง จะเห็นได้ว่า ภาวะโภชนาการส่งผลต่อความต่อเนื่องในการรักษามะเร็งเป็นอย่างยิ่ง พบว่าผู้ป่วยมะเร็งมากกว่า30% ที่ต้องหยุดหรือชะลอการรักษาเนื่องมาจากไม่สามารถรับประทานอาหารได้

    แม้แต่ผู้ที่ยังไม่ได้รับการรักษา เพียงได้ทราบการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง หรือแม้กระทั่งช่วงรอการวินิจฉัย ในผู้ป่วยบางรายก็อาจมีภาวะไม่อยากอาหารได้แล้ว ซึ่งเกิดจากความวิตกกังวล เหล่านี้ก็ส่งผลต่อภาวะโภชนาการได้ บางรายน้ำหนักลดตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มการรักษา หรือในบางชนิดของมะเร็งที่อาการแสดงคือน้ำหนักลด แพทย์ก็จะต้องย้ำถึงความสำคัญของการรับประทานอาหารให้ครบหมู่และถูกวิธี

   ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง สามารถปรับใช้ได้ทั้ง ผู้ป่วยก่อนเข้ารับการรักษา ระหว่าง และหลังจบการรักษา

1. หากไม่หิว รับประทานได้น้อย ให้เลือกรับประทานอาหารที่โปรตีนสูง ให้พลังงานสูง ได้แก่ ถั่ว เนื้อปลา เนื้อไก่ ไข่ขาว เต้าหู้ นม🥛และรับประทานอาหารเสริม(ปรึกษาแพทย์) 👩‍⚕️
2. หากหิว แต่ทานได้น้อยเพราะมีแผล ให้รับประทานอาหารชนิดเหลวที่โปรตีนสูง พลังงานสูง แทนมื้ออาหารได้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารเสริมทางการแพทย์ หรืออาหารปกติปั่นเหลว และระหว่างมื้อสามารถทาน นมปั่น สังขยา ลอดช่อง เฉาก๊วย ไอศกรีม น้ำผลไม้ 🧃 (ยกเว้น grapefruit ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร) และอาหารควรมีรสอ่อน งดอาหารเผ็ด เปรี้ยว เค็ม น้ำจิ้ม ซอส
3. กรณีมีแผลในช่องปากและลำคอ ให้ระวังการรับประทานอาหารขณะยังร้อน
4. โยเกิร์ต (มีจุลินทรีย์)🥤 ยังสามารถรับประทานได้ หากไม่มีอาการท้องเสีย หรือเม็ดเลือดขาวตก
5. ของเหลว ประเภท แอลกอฮอล์ งดโดยเด็ดขาด ทุกกรณี รวมถึง ยาดองทุกชนิด
6. รับประทานอาหารให้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารปกติ หรืออาหารเสริม
7. ช่วงระหว่างรับการรักษา ไม่ควรรับประทานผักสดหรือผักสลัด ควรรับประทานผักปรุงสุก เพื่อลดโอกาสการมีเชื้อปนเปื้อนจากการล้างไม่สะอาด
8. ผลไม้ ควรเป็นผลไม้ที่ปอกเปลือกได้ 🍉 หรือหากเป็นผลไม้ที่ไม่สามารถปอกเปลือกได้ ต้องมั่นใจว่าล้างสะอาดจริงๆ
9. งดอาหารหมักดองทุกชนิด หากมีความจำเป็นต้องรับประทานจริงๆ ให้มั่นใจว่าปรุงสุก และรับประทานปริมาณน้อย (ปรึกษาแพทย์)👩‍⚕️
10. แบ่งรับประทานเป็นครั้งละน้อยๆ เท่าที่จะทานได้ หลายๆครั้ง รับประทานได้ตลอดทั้งวัน
11. หากมื้อไหนทานได้เยอะ ให้รับประทานได้ตามต้องการ
12. มีอาหารพร้อมสำหรับทานทันทีเมื่อหิวไว้สัก 1-2 ชนิด
13. หมั่นบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ โดยบ้วนได้ตลอดทั้งวัน
14. ไม่กังวลมากเกินไปเกี่ยวกับการรับประทาน ให้การรับประทานได้เป็นเรื่องสนุกและเป็นกำลังใจในการรักษาให้ได้อย่างต่อเนื่อง
15. ญาติไม่ควรบังคับหรือดุว่าผู้ป่วยเรื่องการรับประทาน แต่ให้สนับสนุนอาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วยได้รับประทานเมื่อทานได้ 🍴
 
วิธีดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับใช้ ให้ร่างกายผู้ป่วยมะเร็งได้รับสารอาหารครบถ้วน สามารถรับการรักษาได้อย่างต่อเนื่องจนจบการรักษา แต่หากผู้ป่วยอยู่ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือ Palliative จะไม่ใช้วิธีการเหล่านี้ เนื่องจากความต้องการของผู้ป่วยและวัตถุประสงค์ด้านโภชนาการเปลี่ยนไป
วัตถุประสงค์ด้านโภชนาการเปลี่ยนไป
 
วิธีอื่นในการลดผลกระทบต่อภาวะโภชนาการ 
1. ในผู้ป่วยมะเร็งบางลักษณะ การปรับการฉายแสงโดยใช้เทคนิคขั้นสูง ด้วยเครื่องฉายรังสีที่สามารถกำหนดขอบเขตการฉายได้อย่างแม่นยำ จะลดผลข้างเคียงที่มีต่อต่อมน้ำลายได้ ลดการอักเสบของเยื่อบุช่องปากและลำคอได้มาก
2. ให้ญาติกระตุ้นให้ผู้ป่วยคุยเล่น เพื่อกระตุ้นให้ต่อมน้ำลายทำงาน จะช่วยลดการอักเสบของเยื่อบุช่องปากได้เป็นอย่างดี
3. แจ้งแพทย์กรณีคลื่นไส้อาเจียน หรือท้องเสีย เพื่อให้แพทย์ใช้ยาหรือเปลี่ยนยาแก้อาเจียน หรือปรับชนิดอาหาร
4. กรณีเจ็บปากและคอมากๆ สามารถแจ้งแพทย์ขอยาชากลั้วปากและคอก่อนรับประทานอาหารได้ ☺️
Post Views: 1,986
Language »