เทคนิคการฉายรังสีแบบ IMRT

เทคนิคการฉายรังสีแบบ IMRT

      มีเทคนิคการฉายรังสีแบบใหม่ๆมาเล่าให้ฟังครับ ชื่อว่า เทคนิคการฉายรังสีแบบ IMRT 

     หากเราถูกถามว่า จะผ่าตัดแบบเปิดท้อง หรือ แบบส่องกล้อง ก็คงจะง่ายในการเลือก เพราะได้ยินได้ฟังมาว่า การผ่าตัด แบบส่อง กล้อง แผลเล็ก ปวดน้อย หายเร็ว จึงยอมที่จะจ่ายเงิน เพิ่ม เพื่อการใช้เทคนิคนี้ 

   เมื่อ 10 ปี ที่แล้ว หากจะถามว่า เราจะฉายรังสี แบบ 2 มิติ หรือ 3 มิติ ก็ยังคงจะเลือกได้ ด้วยเข้าใจกันดีว่า รังสี 3 มิติ จะมีการวางแผนโดยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ สามารถกำหนดแนวรังสีในทิศทางที่จะหลบอวัยวะสำคัญอื่นๆที่ไม่ต้องการให้โดนรังสีได้ 

   แต่พอให้เลือกว่า จะใช้เทคนิค IMRT หรือ ไม่ เริ่มจะไม่แน่ใจ เพราะ ไม่เข้าใจว่าคือ อะไร คุ้มหรือไม่ ในราคาที่สูงกว่า รวมทั้งการวางแผน และ การรักษาที่ซับซ้อนกว่า

      IMRT (Intensity Modulated Radiation Therapy) หรือการฉายรังสีแบบแปรความเข้ม เป็นเทคนิคที่พัฒนาขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาในกรณีที่ก้อนเนื้องอกมีรูปร่างไม่ตรง หรือมีความหนาไม่เท่ากัน เช่น รูปกรวย รูปเกือกม้า ซึ่งการฉายรังสี 3 มิติทั่วไปมีข้อจำกัดคือ ลำแสงเป็นเส้นตรงเท่ากันตลอดเส้น ทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้รังสีกระทบอวัยวะอื่นได้ หรือหากหลบหลีกได้ ก็อาจส่งผลให้ก้อนมะเร็งไม่ได้รับความเข้มแสงที่เหมาะสม

    โดย IMRT จะแปรความเข้มลำรังสีเป็นตามความหนาของเนื้องอก ทำให้มีความสม่ำเสมอของการกระจายของรังสีในก้อนเนื้องอก สามารถให้ปริมาณรังสีที่สูง เพิ่มผลการรักษา โดยมีความปลอดภัยต่อเนื้อเยื่อปกติ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการรักษา เช่นในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น 

   ดูจากในรูป จะเห็นลำรังสีที่เข้าใน 4 ทิศทางที่มีความเข้มของลำรังสีสูงต่ำ (เส้นสีน้ำเงิน) ตามความหนาของเนื้องอก (รูปเกือกม้าสีแดง)

ประเด็นที่ควรพิจารณา

     การรักษาด้วยเทคนิคทางรังสีใหม่ๆ ยากแก่การที่จะรวบรวมผู้ป่วย ให้ได้มากเพียงพอ ในการเปรียบเทียบทางสถิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องภาวะแทรกซ้อน และคุณภาพชีวิต ทำให้มีข้อถกเถียงกันว่าควรใช้เทคนิคนี้หรือไม่ ซึ่งแน่นอนที่สุด การรอผลวิจัยที่ชัดเจน ย่อมเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่อาจจะทำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง ต้องสูญเสียโอกาส ในการได้รับการรักษาที่ดีกว่า ดังนั้นต้องเป็นความมั่นใจในหลักวิชาการ ร่วมกันของแพทย์ และผู้ป่วย โดยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เคยมีการเสนอ การฉายรังสี เทคนิค IMRT ในมะเร็งปากมดลูก ก็จะมีเสียงคัดค้าน ว่าไม่จำเป็น ผลการรักษาไม่ได้ดีกว่า แต่แพงกว่า จนกระทั่ง 2 ปีที่แล้ว มีรายงานผล การรักษามะเร็งปากมดลูกด้วย เทคนิค IMRT มีภาวะแทรกซ้อนที่น้อยกว่า โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยในกลุ่มที่ได้รับการฉายรังสีแบบ มาตรฐาน มีการเปลี่ยนแปลงของทางเดินอาหาร และทางเดินปัสสาวะ มากกว่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เช่นอาการถ่ายท้อง หรือ การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ โดยในกลุ่มที่ฉายรังสีทั่วไป ต้องได้รับยา เพื่อการรักษาภาวะแทรกซ้อน 20.4 % เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ฉายแสงแบบ IMRT ซึ่งได้รับยารักษาภาวะแทรกซ้อนเพียง 7.8% เมื่อคิดแบบนี้ การจ่ายสูงในครั้งแรกอาจจะคุ้มค่ากว่า การมาจ่ายเพื่อการรักษาภาวะแทรกซ้อนในภายหลัง

บทความที่น่าสนใจ

Post Views: 6,994
Language »