การฉายรังสี SBRT หรือรังสีร่วมพิกัดในการรักษามะเร็งตับ

การฉายรังสี SBRT หรือรังสีร่วมพิกัดในการรักษามะเร็งตับ

    เป็นที่ยอมรับกันว่าโอกาสการหายจากมะเร็งตับ คือ การค้นพบก้อนที่มีขนาดเล็กและผ่าตัดได้ แต่ประเด็นสำคัญ คือผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ในระยะที่เป็นมากเกินกว่าการผ่าตัด วิธีการรักษาที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในกลุ่มที่ผ่าตัดไม่ได้และเป็นมาตรฐานในปัจจุบัน คือการใช้ RFA ซึ่งเป็นการใช้เข็มนำคลื่นความถี่วิทยุระดับสูง เข้าในก้อน เหนี่ยวนำให้เกิดความร้อนที่สูงเพียงพอในการทำลายเซลล์มะเร็ง

   ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการฉายรังสี จากรังสี 2 มิติ เป็นรังสี 3 มิติ และต่อมาที่ได้ยินกันทั่วไป คือ IMRT ที่เป็นมาตรฐานหลักในการรักษามะเร็งทั่วไป จนกระทั่งสิ่งที่เรียกว่า รังสีศัลยกรรม หรือการผ่าตัดด้วยรังสี ซึ่งในระยะเริ่มแรก เราจะได้ยินที่สมอง เรียกว่า Gamma-knife และ X-Knife

   ในปัจจุบัน การรวมรังสีที่จุดใดจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาพเหมือนการผ่าตัดได้ใช้ในอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณลำตัว ที่เรียกว่า SBRT หรือ Stereotactic body radiation เริ่มแพร่หลายและมีการใช้รักษาในหลายอวัยวะโดยเฉพาะเรื่องมะเร็งตับ

     รายงานที่น่าสนใจ เมื่อเดือน มีนาคม 2020 ซึ่งเป็นการศึกษาร่วมของ Nalee Kim กับคณะ จาก 7 โรงพยาบาลในกลุ่มประเทศเอเซีย ได้แก่ เกาหลี ไต้หวัน อ่องกง จีน และญี่ปุ่น เป็นการศึกษาเปรียบเทียบ ระหว่าง stereotactic body radiation therapy (SBRT) and radiofrequency ablation (RFA) ในมะเร็งตับที่ผ่าตัดไม่ได้ ในประเทศเอเซีย

   ในรายงานเป็นการศึกษาย้อนหลัง ในผู้ป่วย2,064 ราย โดย 1,568 and 496 i ในกลุ่ม RFA และ SBRT ตามลำดับ พบว่า SBRTให้การควบคุมโรคที่ดีกว่าการใช้RFA ในขณะที่ ภาวะแทรกซ้อนและอัตราการอยู่รอดเท่ากัน แต่เนื่องจากรายงานนี้เป็นการศึกษาข้อมูลย้อนหลังยังมีความต่างในลักษณะทางคลินิค ซึ่งหากนับในผู้ป่วยทั้งหมด RFA จะมีผลการรักษาที่ดีกว่า คณะผู้รายงานจึงได้มีการปรับกรองกลุ่มผู้ป่วยที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ผลพบว่าผลการรักษา ด้วย SBRT ในเรื่องการควบคุมโรคดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 

อย่างไรก็ตามจึงเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในบทบาทของ SBRT ในการรักษามะเร็งตับ โดยเฉพาะในรายที่ก้อนมีขนาดมากกว่า 3 ซม. บริเวณใต้โดมกระบังลม หรือ segment 8

สรุปแล้ว SBRT เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษามะเร็งตับ ในกลุ่มที่ผ่าตัดไม่ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความ เสี่ยงที่จะกลับเป็นใหม่ ในก้อนที่มีขนาด เกิน 3 ซม.หรือ ทำได้ยากเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น ก้อนใหญ่, อยู่ใต้กระบังลม,อยู่ลึกเข้าไปในส่วนกลาง หรือ กลุ่มที่กลับเป็นใหม่หลังการได้ยาและการอุดหลอดเลือดแดงแล้ว

     โดยส่วนตัวของผมแล้ว การใช้หลายวิธีร่วมกันอาจจะน่าสนใจ เช่น การให้ยาเคมีบำบัดพร้อมกับการอุดเส้นเลือด ที่เรียกว่า chemoembolization ต่อด้วย SBRT เลยหรือ การให้ยามุ่งเป้าที่มีรายงานเพิ่มอัตราการอยู่รอดได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ดีเพียงพอว่าในกลุ่มมะเร็งตับที่ผ่าตัดไม่ได้การรักษาใดจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ดุลยพินิจของแพทย์ ผู้ดูแล และความพร้อมของผู้ป่วยและสถานพยาบาลจะเป็นองค์ประกอบร่วมในการตัดสินใจ ความแผนการรักษาผู้ป่วยครับ

ศ.นพ.พิทยภูมิ ภัทรนุธาพร

บทความที่น่าสนใจ

Post Views: 4,905
Language »