“ผมจะยังพูดได้ไหมหมอ”
คำถามจากใจ คนไข้มะเร็งกล่องเสียง

“ผมจะยังพูดได้ไหมหมอ”
คำถามจากใจ คนไข้มะเร็งกล่องเสียง

มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งที่มักพบในผู้ชายสูงอายุ และผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่ ดื่มสุรา เป็นกรดไหลย้อนเรื้อรัง หรือผู้ที่เคยมีประวัติติดเชื้อ HPV ในช่องปาก  มะเร็งกล่องเสียง หากเกิดการลุกลาม มักจะลุกลามไปอวัยวะใกล้เคียงเช่น ต่อมไทรอยด์ หลอดอาหาร ดังนั้นมะเร็งกล่องเสียงจึงเป็นมะเร็งที่หากลุกลามแล้ว ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
 
จุดประสงค์ของการรักษาโรคมะเร็ง ในอดีตก็จะเป็นการรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดเป็นอันดับแรก และก็จะมีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการรักษามากมาย ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนมากเช่น มะเร็งกล่องเสียง ที่ใช้การรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งต้องมีการเจาะคอ ใส่ท่อ และยังมีผลที่ตามมาคือ แม้การรักษามะเร็งจะหายขาด แต่คนไข้จะพูดไม่ได้อีกเลย
 
   ปัจจุบันการรักษาเปลี่ยนมิติไป เป็นการรักษาที่หายและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บรักษาอวัยวะเอาไว้ ให้สามารถทำงานได้ปกติ ให้ผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงปกติมากที่สุด ยกตัวอย่างในมะเร็งกล่องเสียง ไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด แต่สามารถใช้รังสีรักษา หรือที่เรียกว่าการฉายแสง ผู้ป่วยจะยังเก็บกล่องเสียงไว้ได้ ไม่ต้องมีการผ่าตัด เจาะคอ และผู้ป่วยยังสามารถพูดได้หลังการรักษา
 
   และแม้กระทั่งในมะเร็งระยะที่ 2 หรือ 3 ก็ยังสามารถที่จะรักษากล่องเสียงเอาไว้ได้ด้วยการฉายแสง อาจมีการให้ยาร่วมด้วยเพื่อเสริมประสิทธิภาพของรังสี ทำให้ผู้ป่วยสามารถหายจากมะเร็ง และยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปได้
 
   การพิจารณาให้การรักษาวิธีใดจะพิจารณาและให้ข้อมูลการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง โดยจะพิจารณาจากปัจจัยหลายปัจจัยร่วมกัน ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้ได้รับข้อมูลอย่างถูกต้องและครบถ้วน ภายในระยะเวลาอันรวดเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้มะเร็งลุกลามมากขึ้น และได้รับการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

บทความที่น่าสนใจ

Post Views: 3,135
Language »