กัญชาทางการแพทย์

ระวัง การใช้กัญชา กับผู้ป่วยที่ใช้ยา Warfarin

    ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) คือเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง มีข้อบ่งชี้ใช้เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ที่อาจจะทำให้เกิดการอุดตันในระบบไหลเวียน ของเลือดในร่างกาย เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือผู้ป่วยหลังเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ที่แพทย์ใช้วาร์ฟารินสำหรับป้องกันหรือรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

   วาร์ฟาริน มีดัชนีการรักษาแคบ (NARROW THERAPEUTIC INDEX) หมายถึง ขนาดยาที่ต่ำกว่าช่วงการรักษา จะไม่สามารถออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดได้ ในขณะเดียวกันขนาดยาที่สูงกว่าช่วงการรักษา อาจทำให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงได้ เช่น ภาวะเลือดออกผิดปกติ

   ข้อควรระวังในการใช้ยาวาร์ฟาริน จึงต้องมีการติดตามอาการแสดงทางคลินิก เช่น อาการชาครึ่งซีก อาการปวดศีรษะ เลือดออกตามไรฟัน จ้ำเลือดตามตัว เลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดออกทางทวารหนัก อุจจาระมีสีดำ มีเลือดออกที่ช่องคลอด หรือประจำเดือนมามากผิดปกติ ปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ถ้ามีอาการดังกล่าวให้หยุดรับประทานยา และปรึกษาแพทย์ ที่สำคัญคือต้องติดตามตรวจเลือด เพื่อดูค่า international normalized ratio (INR) โดยกำหนดเป้าหมายการควบคุม INR คือ 2.5-3.5 ซึ่งเป็นระดับที่น่าจะปลอดภัย

     ผลของกัญชาต่อยาวาร์ฟาริน มีรายงานการศึกษา และสรุปการศึกษาจากรายงานต่างๆ มากกว่า 85 รายงาน ทั้งเป็นรายงานในห้องปฏิบัติการ และในผู้ป่วย โดยในห้องปฏิบัติการ พบว่า Delta-9-tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งเป็นสารสำคัญในกัญชา ยับยั่ง CYP2C9-mediated metabolism ของยา warfarin นำไปสู่การเพื่อระดับยา Warfarin ในเลือด ซึ่งสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของระดับ INR มีรายงานหนึ่งที่พบว่าผู้ใช้กัญชา มีระดับ INR สูงมากกว่า 10 พร้อมกับมีการเลือดออก และบางรายต้องลด ยาวาร์ฟาริน โดยต้องลดระดับยาถึง 30% เพื่อได้ค่า INR ที่ต้องการ

ดังนั้น ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ Warfarin ร่วมกับกัญชา จึงต้องระมัดระวังโดยติดตามอาการและระดับ INR อย่างใกล้ชิดป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะเลือดออกในผู้ป่วย

    กัญชาทางการแพทย์ จึงเป็นเหมือนยาอื่นๆ ที่คุณอนันต์โทษมหันต์ ต้องใช้อย่างรอบคอบ และถูกต้องตามข้อบ่งชี้ สิ่งที่ต้องระวัง คือ ผลปฏิกิริยากับยาอื่นๆ ที่เราอาจคาดไม่ถึง ปรึกษาแพทย์ให้รอบคอบนะครับ

อ้างอิง : Per Damkier et al. Basic Clin Pharmacol Toxicol 2019 Jan;124(1):28-31.Epub 2018 Nov 6.

ศ.นพ.พิทยภูมิ ภัทรนุธาพร

Post Views: 3,337
Language »