ทำอย่างไร หากมีอาการชาจากเคมีบำบัด

   หนึ่งในวิธีการรักษาหลักของโรคมะเร็งหลายชนิดคือการใช้ยาเคมีบำบัด ผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากการให้ยาเคมีบำบัดได้แก่อาการชา ยาที่ใช้รักษามะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาจทำให้เกิดอาการชาได้มาก อาการชามีได้หลายแบบ ได้แก่ อาการชาแบบหนาๆ, อาการชาแบบตื้อ, อาการชาคล้ายเป็นเหน็บ รายที่อาการมากอาจมีการอ่อนแรงร่วมด้วย แต่อาการทั้งหมดนี้สามารถฟื้นฟูได้ และเมื่อจบการรักษาอาการเหล่านี้จะลดน้อยลงจนใกล้เคียงปกติ

    อาการชาส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวัน หากผู้ป่วยรู้เท่าทัน จะสามารถระวังตัวในกิจกรรมบางอย่าง ลดผลกระทบที่จะตามมาได้เป็นอย่างมาก รวมถึงการไม่วิตกกังวลหรือตกใจเมื่อมีอาการ ผลกระทบกับชีวิตประจำวันเช่น

  • การไม่สามารถติดกระดุมเองได้
  • การไม่สามารถบอกอุณหภูมิของสิ่งของที่จับอยู่ได้ ซึ่งอาจทำให้จับของร้อนหรือเย็นจัดไว้จนผิวหนังไหม้
  • การที่ไม่สามารถเขียนหนังสือได้คล่องแคล่วอย่างที่เคยทำ
  • ผู้ที่ต้องทำงานกับสิ่งของชิ้นเล็กหรืองานประณีตไม่สามารถทำได้
  • การเกิดบาดแผลโดยไม่รู้ตัวในบริเวณที่ชา ผู้ป่วยควรสำรวจร่างกายบริเวณที่ชาทุกวัน หากมีบาดแผลให้รักษาทันที

 ข้อแนะนำสำหรับบรรเทาอาการชาและป้องกันผลกระทบจากอาการชา

  1. นำวัสดุนิ่ม เช่น สำลี ถูไปมาบริเวณที่ชา ทำซ้ำประมาณ 5 นาที วันละ 3 รอบ
  2. นำวัสดุแข็งปานกลาง เช่น แปรงสีฟัน ถูไปมาบริเวณที่ชา ทำซ้ำประมาณ 5 นาที วันละ 3 รอบ ไม่ควรใช้กรณีมีบาดแผล
  3. นำวัสดุนิ่มแน่น เช่น ยางลบชิ้นเล็ก หรือยางลบปลายดินสอ กดบริเวณที่ชา ใช้แรงกดปานกลาง หลับตา พยายามรับรู้ถึงการกด แล้วปล่อยไม่กดแช่ทิ้งไว้นาน ทำซ้ำประมาณ 5 นาที วันละ 3 รอบ
  4. ฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือ เช่น บีบลูกบอล ค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำประมาณ 5 นาที วันละ 3 รอบ
  5. ใช้อวัยวะส่วนที่ไม่มีอาการชา เช่น ข้อศอก สัมผัสเพื่อตรวจสอบอุณหภูมิของสิ่งของที่คาดว่าร้อนหรือเย็นจัดก่อน
  6. หาผู้ช่วย หรือใช้อุปกรณ์ช่วยเสมอเมื่อต้องสัมผัสของร้อน เช่น การนำอาหารออกจากไมโครเวฟ
  7. ระมัดระวังเกี่ยวกับการลื่น เช่น พื้นที่ลื่น พรมเช็ดเท้า ควรนำออก
  8. หากสามารถปรับได้ควรมีที่นั่งสำหรับอาบน้ำ หรือมีผู้ช่วยหากมีอาการชามากและไม่สามารถทำกิจวัตรเองได้
  9. ระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผล ควรสวมถุงมือถุงเท้าไว้เสมอ ไม่เดินเท้าเปล่า
  10. หากชาปลายเท้ามาก ควรใช้ไม้เท้าช่วยในการเดินและป้องกันการล้ม
  11. งดหรือเลี่ยงการใช้งานของมีคมทุกชนิด 

       อาการเหล่านี้จะค่อยๆหายไปเมื่อจบการรักษา การฟื้นฟูและบริหารกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสมไม่หักโหมจะช่วยให้ปลายประสาทลับมาทำงานใกล้เคียงปกติได้เร็วขึ้น

Copyright © 2022 Sriracha Canceralliance Alliance Hospital.

Post Views: 35
Language »