𝗕𝗜𝗥𝗔𝗗𝗦 บอกอะไร ในมะเร็งเต้านม

   เมื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) และอัลตราซาวน์ (Ultrasound) เพื่อหาความผิดปกติของเต้านม สิ่งที่แพทย์จะใช้ในการรายงานผลการตรวจตามมาตรฐาน เรียกว่า 𝗕𝗜-𝗥𝗔𝗗𝗦 ซึ่งจะใช้ข้อมูลจากลักษณะก้อนและหินปูนประกอบกันในการรายงานค่า 𝗕𝗜𝗥𝗔𝗗𝗦 โดยแบ่งเป็น 𝗕𝗜𝗥𝗔𝗗𝗦 𝟬-𝟱

   𝗕𝗜𝗥𝗔𝗗𝗦 𝟬 ใช้รายงานในกลุ่มที่ตรวจคัดกรองโดยยังไม่มีอาการใด และการคัดกรองครั้งนั้นมีผลการตรวจแมมโมแกรมที่ยังไม่สมบูรณ์ หรือไม่ชัดเจน คำแนะนำ ควรได้รับการแมมโมแกรม หรืออัลตราซาวน์เพิ่มเติม

   𝗕𝗜𝗥𝗔𝗗𝗦 𝟭 ใช้รายงานผลการตรวจที่ปกติ คำแนะนำ ควรตรวจคัดกรองสม่ำเสมอทุกปี ปีละ 1 ครั้ง

   𝗕𝗜𝗥𝗔𝗗𝗦 𝟮 มีการตรวจพบรอยโรคที่แพทย์สามารถระบุได้ว่าไม่ใช่มะเร็ง คำแนะนำ ควรตรวจคัดกรองสม่ำเสมอทุกปี ปีละ 1 ครั้ง

  𝗕𝗜𝗥𝗔𝗗𝗦 𝟯 พบรอยโรคที่แพทย์คาดว่าจะไม่ใช่มะเร็ง หรือมีโอกาสเป็นมะเร็งไม่เกิน 2% ในบางรายที่ได้รับรายงาน BIRADS 3 ที่ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นระยะเวลา 2-3 ปี แพทย์อาจปรับการรายงานลงเป็น BIRADS 2 ได้ คำแนะนำ นัดตรวจคัดกรองทุก 6 เดือนเป็นระยะเวลา 2-3 ปี

   𝗕𝗜𝗥𝗔𝗗𝗦 4 พบรอยโรคที่สงสัยมะเร็ง แต่ยังไม่แน่ใจว่าใช่หรือไม่ ซึ่งความเป็นไปได้กว้างมากคือ อยู่ในช่วง 2% – 95% จึงแบ่ง BIRADS 4 เป็น 3 กลุ่มได้แก่ 4A มีความเป็นไปได้ 2% – 10% , 4B มีความเป็นไปได้ 10% – 50% และ 4C มีความเป็นไปได้ 50% – 95% คำแนะนำในทุกกลุ่ม ต้องได้รับการตรวจชิ้นเนื้อ

   𝗕𝗜𝗥𝗔𝗗𝗦 5   พบรอยโรคที่มีความเป็นไปได้มากกว่า 95% ที่จะเป็นมะเร็ง คำแนะนำ ต้องได้รับการตรวจชิ้นเนื้อ 

   มะเร็งเต้านม มีการรักษาหลักได้แก่ การผ่าตัด ฉายแสง เคมีบำบัด การใช้ยาฮอร์โมนหรือยามุ่งเป้า ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของมะเร็งที่พบ เป็นมะเร็งที่มีโอกาสการหายขาดสูง ถึงแม้จะอยู่ในระยะลุกลาม การเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วที่สุดเป็นสิ่งที่ควรทำ เมื่อเข้ารับการรักษา ต้องมีผลการตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อ ในบางรายแพทย์อาจส่งตรวจยีนเพื่อการเลือกวิธีการรักษารวมถึงการป้องกันญาติลำดับใกล้ชิดได้อย่างถูกวิธี 

Post Views: 45
Language »