รายงานการศึกษาโครงการ Cancer Anywhere
ในโรงพยาบาลเฉพาะทางมะเร็งแคนเซอร์อลิอันซ์ศรีราชา

วิลาวัลย์ เล้าสกุล ,พรรณรีย์ ภัทรนุธาพร,  สิรินภรณ์  ลิ่มวงศ์

บทคัดย่อ

   การวิจัยครั้งนี้จัดทำขึ้นเป็นแบบสอบถามที่พัฒนาขึ้นมาจากการทบทวนเอกสาร งานวิจัย ทฤษฏีที่เกี่ยวข้อง มาประยุกต์สร้างแบบสอบถาม โดยสำรวจผู้มารับบริการที่ใช้สิทธิ์ หลักประกันสุขภาพ (สปสช ) ในโรงพยาบาล   แคนเซอร์อลิอันซ์ ศรีราชา  ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2568 เป็นจำนวนทั้งหมด 77 ราย พบว่า ผู้มารับบริการมีภูมิลำเนา ที่เป็นสถานที่ตั้งของโรงพยาบาล เพียง 6 คน ที่เหลือจะอยู่นอกเขตอำเภอศรีราชา ส่วนที่อยู่ปัจจุบันของผู้มารับบริการ มี 27 รายที่พักอยู่ในเขตศรีราชา 31 รายที่พักอำเภออื่นในจังหวัดชลบุรี และ 19 รายที่พักจังหวัดอื่นๆ  ผลสำรวจพบว่า ผู้มารับบริการ สามารถพบแพทย์ในวันแรก ที่มาติดต่อได้ถึง 64% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนระยะเวลารอคอยการรักษาจะอยู่ที่ ภายใน 3 วัน แต่ไม่เกิน 1 สัปดาห์ สูงถึง 94% ส่วนผลสำรวจความพึงพอใจในโครงการ Cancer Anywhere มีค่าเฉลี่ยสูงกว่า 94% ที่มี ความพึงพอใจสูงสุดใน 4 ด้าน ทั้งด้านการรักษา การรอคอย ค่าใช้จ่าย และด้านความสะดวก การวิจัยครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า ผุ้มารับบริการ  มีความพึงพอใจอย่างมากต่อโครงการ Cancer Anywhere ลดระยะเวลารอคอยการรักษาของผู้มารับบริการ และตอบสนองความสะดวก ในการเข้าถึงการรักษาของผู้มารับบริการในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่อยู่ปัจจุบัน

บทนํา

        โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สําคัญของประเทศ    จากข้อมูลสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และข้อมูลของกองยุทธศาสตร์และแผนงานกระทรวงสาธารณสุข  พบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละ ประมาณ 140,000 คน และเสียชีวิตสูง เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ   ในแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 12 พศ 2560 ถึง 2564 ได้มีการพัฒนาระบบการบริการต่างๆ ที่มีความต่อเนื่อง ตั้งแต่เรื่องของ service plan หลักประกันสุขภาพ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และที่สําคัญก็คือ โครงการ Cancer Anywhere ซึ่งได้ให้ความสําคัญในเรื่องของคุณภาพ และประสิทธิภาพของการบริการ และการเข้าถึงการรักษา    เป็นโครงการ  รักษามะเร็ง ที่ไหนก็ได้ ที่พร้อม ของสปสช. เป็นการช่วยให้ ผู้ป่วยมะเร็ง สิทธิบัตรทอง  ได้รับการรักษา  ทั้งโรงพยาบาลของรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน ที่มีศักยภาพ ให้ได้เข้าถึงการรักษาที่รวดเร็วเหมาะสม ในขณะเดียวกัน สามารถข้ามเขตจังหวัดได้  โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว   เพียงแต่มีประวัติ  การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งที่ถูกต้อง เริ่มดําเนินการ  ในเดือนมกราคม 2564 คําว่าที่ไหนที่พร้อม  หมายถึงหน่วยบริการที่ผ่านการตรวจประเมินศักยภาพ และขึ้นทะเบียนกับสํานักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็ง ต้องใช้เครื่องมือ และ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 1–3

     ในขณะที่สถานพยาบาลของรัฐยังมีข้อจํากัด จึงเปิดให้โรงพยาบาลเอกชน ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะเครื่องมือทางรังสีรักษา โดยบริการนั้นครอบคลุมทั้งยาเคมีบําบัด และรังสีรักษา รวมทั้งการตรวจวินิจฉัย ประเมินระยะโรค รวมทั้งการติดตาม การรักษา   นอกจากนั้น ประโยชน์ ที่จะได้รับเห็นชัดเจน  จากโครงการนี้    คือผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลา ในการเดินทางเพื่อขอใบส่งตัว 4

          โรงพยาบาลเฉพาะทางมะเร็งแคนเซอร์อลิอันซ์ศรีราชา เป็นหนึ่งในโรงพยาบาล ที่เข้าร่วมโครงการ Cancer Anywhere ของสปสช. ในเขตอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ที่มีความพร้อม รองรับการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ทั้งการฉายรังสี และยาเคมีบำบัด

         อย่างไรก็ตาม  โครงการนี้ ก็ยังถูกตั้งคำถามในเรื่องประสิทธิผล ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึง การได้รับการรักษาตามวัตถุประสงค์ของโครงการ  ความมั่นใจในมาตรฐานการรักษา  และความถึงพอใจต่อโครงการ

       คณะผู้วิจัย จึงสำรวจข้อมูล ผู้ป่วยสิทธิประโยชน์ที่ใช้ โครงการ cancer anywhere  เพื่อประเมินผล และค้นหาปัญหา พร้อมทั้งประเมินความพึงพอใจของโครงการCancer Anywhere  เพื่อนําไปสู่การพัฒนาการบริการที่มี ประสิทธิภาพ ยิ่งขึ้น

กระบวนการศึกษา

      ทำการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยสิทธิประโยชน์  ที่ใช้สิทธิ ใน โครงการ Cancer Anywhere  ของสปสช.  ในโรงพยาบาล แคนเซอร์อลิอันซ์ศรีราชา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 ถึงเดือนมกราคม 2568 โดยใช้แบบสอบถามที่ ออกแบบโดยแพทย์  พยาบาล เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถประเมินความพร้อม และความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ  ที่คํานึงถึงสิทธิผู้ป่วย โดย ไม่มีการถามประวัติส่วนตัว  หรือโรค หรือการดูเวชทะเบียน  การสอบถามทำเพียงครั้งเดียว โดยคณะผู้วิจัย ที่ผ่านการทำความเข้าใจคำถาม และวิธีการสอบถาม  เพราะผู้ป่วยจะเป็นกลุ่มที่มีความเประบางทางจิตใจ  ทั้งนี้ ผู้ที่สอบถาม จะไม่ใช่แพทย์ พยาบาล ผู้เกี่ยวข้องกับกับการบริการผู้ป่วย เพือความเป็นอิสระในการประเมิน   หลังจาก นั้นลงบันทึกใน google form  เพื่อ รวบรวมทำสถิติ และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยทีมผู้วิจัย

ผลการศึกษา

    จากการสอบถามผู้ป่วยในโครงการ Cancer Anywhere      ด้วยแบบสอบถาม ในโรงพยาบาลเฉพาะทาง มะเร็ง แคนเซอร์อลิอันซ์ศรีราชา ในช่วงระยะเวลาเดือนพฤศจิกายน 2567 ถึงเดือน มกราคม 2568 มีผู้ป่วยจํานวน 77 ราย ที่ตอบแบบสอบถาม  เป็นผู้ป่วยชาย 18 ราย (18.2%) ผู้ป่วยหญิงจํานวน 62 ราย (80.5%) และไม่ระบุ จำนวน 1 ราย อายุตั้งแต่ 25 ถึง 79 ปี  โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 50-60 ปี   เฉลี่ย 55 ปี    โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

     1.  ภูมิลำเนา ของผู้ป่วยมะเร็งที่มารักษาจากกราฟที่ 1 พบว่า  จำนวนผู้ป่วยที่อยู่ในอำเภอศรีราชา ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของ โรงพยาบาลแคนเซอร์อลิอันซ์ศรีราชา มีเพียง 6 คน (7.8%) เท่านั้น  ที่เหลือจะอยู่นอกเขตศรีราชาทั้งหมด (92.2%)

กราฟที่ 1 แสดงภูมิลำเนาผู้ป่วยในและนอกเขตอำเภอศรีราชา

      2. ที่อยู่ปัจจุบันของผู้ป่วย จากกราฟที่ 2 พบว่าผู้ป่วยมีที่อยู่ปัจจุบัน ในอำเภอศรีราชา สูงถึง 27 ราย (35.1%) ซึ่งจากภูมิลำเนาที่มีเพียง 8% เท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากมาอยู่กับญาติที่มาทำงานในเขตอำเภอศรีราชา  ทำนองเดียวกัน เมื่อพิจารณา เป็นรายจังหวัด จะมีจำนวนสูงถึง 58 ราย (4%) ที่อยู่ในจังหวัดชลบุรี    ในขณะที่ ส่วนนอกเขตชลบุรีจํานวน 19 ราย (24.6%) ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นจังหวัดโดยรอบในภาคตะวันออก

กราฟที่ 2 แสดงที่อยู่ปัจจุบันในเขตศรีราชา อำเภออื่นในชลบุรี และนอกจังหวัดชลบุรี

      3. ลักษณะการส่งต่อ  จะเป็นการส่งต่อจากแพทย์โรงพยาบาลเดิม    โดย  85.7% ของผู้ป่วย  ได้รับการส่งต่อจากโรงพยาบาลเดิม มีเพียง 13.0% ที่เดินทางมาใช้สิทธิ์เอง

      แพทย์โรงพยาบาลเดิมเลือก ส่งต่อ โรงพยาบาล แคนเซอร์อลิอันซ์ศรีราชา เพียงแห่งเดียว จํานวน 28 ราย (42.4%) ส่วนแพทย์โรงพยาบาลเดิมให้ผู้ป่วยเลือก โรงพยาบาลมะเร็งเอง อีก 18 ราย (27.3%)  แพทย์ส่งผู้ป่วยมะเร็งต่อไปที่หน่วยงาน ของรัฐบาล อีก 20 ราย  (30.3%)0

     4. เหตุผลในการคัดเลือกโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษา พบว่า  84.0% ของผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลแคนเซอร์อลิอันซ์ ศรีราชา มาด้วยเหตุผลคือ ใกล้บ้าน   แสดงให้เห็นว่า การใกล้บ้าน เป็นปัจจัยสําคัญ ในการเลือกสถานที่เข้ารับการรักษา  ดังกราฟที่ 3

กราฟที่ 3 แสดงเหตุผลสำคัญในการเลือกมาโรงพยาบาลแคนเชอร์อลิอันซ์ ศรีราชา

  1. ความพร้อมในการใช้โครงการ Cancer Anywhere พบว่าผู้ป่วยสามารถเข้ารับรักษาได้ทันที จํานวน 59 ราย (76.6%) และ 18 ราย (23.4%) ยังต้องเดินทางกลับไปต้นสังกัด เพื่อขอใบส่งตัวพร้อมกับคำวินิจฉัยที่สมบูรณ์ก่อนรับการรักษา
  2. ระยะเวลาที่ สามารถเข้าถึงการพบแพทย์ครั้งแรก จากกราฟที่ 4 พบว่าผู้ป่วย ที่สามารถพบแพทย์ในวันที่ติดต่อ 49 ราย (63.6%) และ 27 ราย (35.1%) สามารถพบแพทย์ภายใน 1 สัปดาห์เพราะต้องเตรียมประวัติ ก่อนเข้ารับรักษา
  3. ระยะเวลาการรอคอย เพื่อเข้ารับการรักษา กรณีฉายรังสี  จากกราฟที่ 5  พบว่า ผู้ป่วย จํานวน 37 ราย (48.6%) สามารถรักษาภายใน 3 วัน และอีก 34 ราย (44.7%) สามารถรักษาภายใน 1 สัปดาห์  เมื่อรวมทั้ง 2 กลุ่ม จะเท่ากับ71 ราย หรือ  93.3 %
  4. ระยะเวลาการรอคอย เพื่อเข้ารับการรักษาเคมีบําบัด จากกราฟที่ 6 ผู้ป่วยโดยส่วนมากสามารถรับการรักษา ได้ภายใน 1 สัปดาห์ จํานวน 24 ราย (47.1%)  ภายใน 3 วัน  19 ราย ( 37.3% ) ช้าที่สุด คือ ภายใน 2 สัปดาห์

กราฟที่ 4 แสดงระยะเวลาของ ความสามารถในการเข้าพบแพทย์ ครั้งแรก

กราฟที่ 5 แสดงระยะเวลาในการรอคอย เพื่อเข้ารับการรักษาด้วยรังสี

กราฟที่ 6 แสดงระยะเวลาในการรอคอย เพื่อเข้ารับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด

        9.  ความพึงพอใจในโครงการ Cancer Anywhere ในโรงพยาบาลเฉพาะทางมะเร็งแคนเซอร์อลิอันซ์ศรีราชา ผู้ป่วยให้ความพึ่งพอใจสูงสุดในระดับ 4 ( แบ่งระดับ เป็น 4 ระดับ ) 100 % และให้ความเห็นว่าได้รับคำแนะนำ เกี่ยวกับการรักษาการปฏิบัติตัว และความเห็นอกเห็นใจดีมาก ในด้านการรักษา (100%), ด้านการรอคอย (94.6%), ด้านค่าใช้จ่าย (98.7%), ด้านความสะดวก (97.4%) หลังจากที่ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการบริการแล้ว ผู้ป่วยมะเร็งทุกคนในโครงการ Cancer Anywhere (100%) คิดว่าได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ตามมาตรฐาน

     ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทอง (82.9% )เห็นว่าโรงพยาบาลเอกชน มีความแตกต่างกับโรงพยาบาลรัฐบาล ในแง่ของการบริการ ความสะดวกสะบาย และการรักษาที่เต็มที่

กราฟที่ 7 แสดงความเห็นในการร่วมจ่าย กรณีการรักษาที่สิทธิไม่ครอบคลุม

กราฟที่ 8 จำนวนเงินที่สามารถร่วมจ่ายได้ในแต่ละครั้ง

         10. การร่วมชำระในกรณีสิทธิ์ไม่ครอบคลุมในโครงการ Cancer Anywhere จากกราฟที่ 7 ผู้ป่วยมะเร็ง จํานวน 58 ราย (76.3%) เห็นด้วยที่จะชําระ และ 18 ราย (23.7%) ไม่เห็นด้วย ต้องการรักษาเท่าที่สิทธิครอบคลุมเท่านั้น และจากกราฟที่ 8 ร้อยละ 39.7 ของผู้ป่วยที่เห็นด้วยในการชําระเพิ่มเติมต้องการที่จะชําระไม่เกิน 1,000 บาท

อภิปรายผล

         โครงการ cancer anywhere ตั้งขึ้นโดยพื้นฐานของแนวคิดที่จะให้ผู้ป่วยมถเร็งเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้การรักษาที่ดีขึ้น โอกาสการหายสูงขึ้น ซึ่งหากจะพิจารณาในมุมมองทางด้านเศรษฐกิจสาธารณสุข ในการใช้มรัพยากรบุคคล เครื่องมือ อุปกรณ์ และการบริหารจัดการ ร่วมกัน ตามหลักการ economy of scale ( 5 )  เพื่อให้เกิดความคุ้ม  เพราะเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในประเทศ ไม่แบ่งแยกรัฐบาล หรืออกชน ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยการรักษาลดลง จึงสามารถกำหนด ค่าตอบแทนการบริการที่เหมาะสม เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของรัฐ พร้อมกับเป็นการลดความแออัดของภาครัฐ ที่มีข้อจำกัดในเรื่องเครื่องมือ ซึ่งการรักษาภายในระยะที่กำหนด หรือ การรักษาในระยะไม่ลุกลาม จะทำให้ผลการรักษาที่ดีขึ้น

     ขณะเดียวกัน ระบบการบริหารจัดการในการส่งต่อ หรือ ระบบ referral system ก็ถูกปรับเป็นการรักษาที่ไหนก็ได้ที่พร้อม โดยการประเมินทั้งเรื่องบุคลากรและเครื่องมือ พร้อมการบริการที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการรักษามาตรฐานที่กำหนดจากคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันต่างๆ ที่คำนึงผลการรักษาและความคุ้มค่าในด้านสุขภาพ แพทย์ และผู้ป่วย ก็จะร่วมกันพิจารณา ถึงความเหมาะสมในการส่งตัว  ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจเฉพาะบุคคล ครอบครัว สังคม ไปในเวลาเดียวกันด้วย

      จากผลการศึกษานี้พบว่า ผู้ป่วยมีภูมิลําเนาในศรีราชาเพียง 6 ราย หรือ (7.8%) แต่คนที่มาอาศัยอยู่ในศรีราชาสูงขึ้นถึง 27 ราย หรือ (35.1%)      ในขณะที่อยู่ปัจจุบัน ในจังหวัดอื่นๆ 19 ( 24.7 % )   นับเป็นการแก้ไขในเรื่องข้อจำกัดของภูมิลําเนาหรือต้นสังกัด  เพราะผู้ป่วยสามารถเลือกสถานที่รักษาที่ตนเองสะดวก การอยู่ใกล้บ้าน หรือใกล้ญาติผู้ดูแล  หรือในกรณีที่ผู้ป่วยยังอยู่ในวัยทํางาน หรือญาติที่ต้องทํางาน ก็ สามารถที่จะดูแลผู้ป่วย หรือทํางานได้ตามปกติ  แทนที่จะต้องเดินทางเข้ามาในส่วนกลาง   จึงมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อระบบเศรษฐกิจอย่างชัดเจน  เพราะการเดินทางเข้ามาในส่วนกลาง นอกจากจะเสียงาน  ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ป่วย หรือญาติที่ตามมาดูแล บางครั้งปัญหานี้ ทําให้ผู้ป่วยตัดสินใจเลิกรับการรักษา นับเป็นการสูญเสีย  ทั้ง ผู้ป่วยเอง และครอบครัว     

      และ แม้เราจะเปิดสิทธิให้ผู้ป่วยเลือกสถานพยาบาล ได้ด้วยตนเอง แต่ก็ มีเพียง 13.0% เท่านั้น ที่เดินทางมาใช้สิทธิเอง ที่เหลือยังคงเป็นการแนะนําและส่งต่อจากโรงพยาบาลเดิม  ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการพิจารณาร่วมของแพทย์ กับผู้ป่วยโดยป่วยเลือกด้วยเหตุผลหลัก.ในการเลือกสถานพยาบาล คือ ใกล้บ้าน 84.0%

     อย่างไรก็ตาม ปัญหาการบริการนี้ ได้มีผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยแพทย์ ที่มีชื่อเสียง ที่ผู้ป่วยเดินทางเข้าไปเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีใบส่งตัว จนแออัดเกิน กำลังของบุคลากร และยังมีปัญหาในการรักษาโรคร่วม ที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้  

   จึงต้องการ ให้มีใบส่วนตัวนั้น คณะผู้วิจัยมีความเห็นว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น  เพราะประชาชน มีความเชื่อถือศรัทธา ในโรงพยาบาลมหาลัยแพทย์ จึงมุ่งเข้าหามหาลัยแพทย์ ทําให้เกิดข้อจํากัดในทรัพยากร และเป็นภาระหนักของมหาวิทยาลัยแพทย์ ( 6,7 )

         ดังนั้น หากมีการ จัดระบบ Cancer Anyway ออกเป็น 2 ระดับ คือ ในระดับส่วนกลาง คือมหาวิทยาลัยแพทย์  กับ ในส่วนภูมิภาค เพราะในระดับภูมิภาค ความเชื่อถือความศรัทธา จะคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐ หรือของเอกชนก็จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน มีความแตกต่างกันในเรื่องของความเชื่อถือน้อยกว่ามหาลัยแพทย์ หากเรามีการควบคุม ในการส่งต่อเป็น 2 ระดับ  ก็จะทําให้มหาลัยแพทย์สามารถให้บริการผู้ป่วยสปสช ในกรณีที่ซับซ้อน เพราะโรคมะเร็งจะมีทั้งส่วนที่ทราบดีในสาเหตุ และวิธีการรักษา กับการรักษาในกรณีที่ซับซ้อนต้องการการตรวจค้น ต้องการเครื่องมือพิเศษและต้องการ การวินิจฉัยพิเศษ หรือการรักษาเชิงวิจัย ซึ่งจะมีอยู่เฉพาะ ในโรงพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่ หรือโรงเรียนแพทย์

           ความพร้อมในการรับบริการสูงถึง 76.6% มีเพียง 23.4% ที่ส่งกลับต้นสังกัด เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม     ซึ่งเชื่อว่าหากปฏิบัติตามืขั้นตอน การส่งต่อ และใช้ระบบสารสนเทศที่มีอยู่ทั้ง 4 ระบบ ของ สปสช ( 8 )   ความพร้อม และสความสะดวกจะสูงขึ้น  

        ในเรื่องระยะเวลารอคอยทั้งพบแพทย์ การรักษาด้วยรังสี และเคมีบัาบัด  ซึงมีผลกระทบต่อผลการรักษา ด้วยมาตรฐานกำหนดไว้ที่ระยะเวลา 6 สัปดาห์ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาตั้งแต่ในอดีต ของหลายจังหวัด  หลายศูนย์มะเร็ง ที่ทำได้ตามเป้าหมาย หรือ นานกว่าเป้าหมาย เช่น ศูนย์ในเขตสุขภาพ เขต1 ที่รายงานระยะเวลารอคอยเฉลี่ย 28 วัน ต่ำสุด 24 วัน สูงสุด 144 วัน และที่อุดร เคยรายงานว่าสามารถทำได้ในเกณฑ์  ( 9,10,11 )  จากรายงานการศึกษานี้ พบว่า ผู้ป่วยทั้งหมด ได้พบแพทย์ ภายใน 1 สัปดาห์ และ 100 % โดยได้รับการรักษาด้วยรังสีภายใน1 สัปดาห์  93.3% และทั้งหมด  ภายใน 2 สัปดาห์  ส่วนเคมีบำบัด  ได้เกือบ 100% ภายใน 1 สัปดาห์ รายที่ช้าที่สุด คือ 2 สัปดาห์ จึงนับว่า ได้ตามเกณฑ์ มาตรฐาน ที่กำหนดทั้งหมด 100 %

      ผู้ป่วย ทั้งนี้โครงการ cancer anywhere ของ สปสช. บรรลุวัตถุประสงศ์ ได้รับความพึงพอใจในเรื่องการรักษา การรอคอย ค่าใช้จาย และความสะดวก 100%, 94.6%, 98.7%, 97.4% ตามลําดับ และ 100% ของผู้รับบริการ จะแนะนําผู้ป่วยเข้าโครงการนี้

       ในประเด็นที่สิทธิประโยชน์ไม่ครอบคลุม 76.3%  ของผู้ป่วย เห็นด้วยที่จะชําระส่วนเกิน แต่ 39.7% ของกลุ่มนี้จะชําระเพิ่มเติ่มไม่เกิน 1000 บาท    ซึ่งหากในอนาคต จะมีแนวทางการใช้ Co Pay  ก็อาจจะช่วยให้การดำเนืนงาน ในโครงการมีความสะดวก และลดปัญหาความไม่เข้าใจลงได้ ( 12 )

สรุป

     โครงการ Cancer Anywhere เป็นโครงการที่มีประโยชน์  สำหรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่มาใช้ยริการ ในโรงพยาบาล แคนเซอร์อลิอันซ์ ศรีราชา จากการประเมิน พบว่ามีความพึงพอใจทั้งโครงวการ และการเข้าถึงการรักษาในระยะเวลาที่กำหนด มีความสะดวกในการเลือกสถานพยาบาล ตามข้อกำหนดที่ไม่ต้องมีใบส่งตัว  

      ในภาพรวมของเศรษฐกิจ เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ  โดยเป็นการใช้เครื่องมือร่วมกันของภาครัฐและเอกชน ภายใต้มาตรฐานการรักษาเดียวกัน  และช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ของประชาชน ในเรื่องค่ารักษา ซึ่งเดิมจัดเป็นหมวดค่าใช้จ่ายที่สูง และประหยัดค่าเดินทาง ได้ส่งผลให้ประชาชนที่อยู่ในส่วนภูมิภาคเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็ว

      การศึกษานี้เป็นการศึกษา ในกลุ่มผู้ป่วยจํานวนน้อย แต่ก็ได้สะท้อนภาพ  การบริการของโครงการ Cancer Anywhere ที่ได้บรรลุวัตถุประสงค์   แต่ควรจะมีการศึกษาในภาพกว้าง โดยรวบรวมจํานวนผู้ป่วยมากกว่านี้ ทั้งในภูมิภาครวมทั้ง ศึกษาเปรียบเทียบกับ กลุ่มมหาลัยแพทย์ ที่มีสภาพการบริการที่แตกต่างกับ โรงพยาบาลในต่างจังหวัด  ซึ่งอาจจะนำไปสู่แนวทางจัดบริหารจัดการโครงการ Cancer Anywhere ในลักษณะจําเพาะกลุ่มที่แตกต่างกัน ระหว่างมหาวิทยาลัยแพทย์ และภูมิภาคและยกระดับมาตรฐานการรักษาในภูมิภาค ทั้งบุคลากรและเครื่องมือ  เพื่อสร้างความมั่นใจ และความเข้มแข็งในการส่งกลับ หรือ สั่งต่อที่จำเป็น

       ในระยะยาว ควรประเมิน ติดตามผลการรักษา การตรวจค้น และการป้องกันโรคมะเร็ง เพื่อประเมิน ความคุ้มค่าทาง เศรษฐกิจสาธารณสุขอย่างแท้จริง เพื่อเป็นการวางแผนงบประมาณที่เหมาะสมของประเทศต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. สถาบันมะเร็งแห่งชาติ,เรื่องเด่นประจำฉบับ “มะเร็งรักษาได้ทุกที่ ที่มีความพร้อม”,วารสารกรมการแพทย์ ปีที่ 47 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2565 หน้า 5-9
  2. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 12 [online], 2560 [เข้าถึงเมื่อ 5 กรกฏาคม 2565], เข้าถึงได้จากhttps://www.nesdc.go.th/ewt_news.pho?nid=6420&filename=develop_issue
  3. มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง, Cancer Anywhere [online], 2564 [เข้าถึงเมื่อ 5 กรกฏาคม 2565], เข้าถึงได้จาก ; https://thaicancersociety.com/rights-to-health-care/cancer-anywhere/
  4. ข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ‘ชลบุรี’ เชื่อมต่อโรงพยาบาล ‘รัฐ-เอกชน’ เดินหน้าโครงการมะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ที่พร้อม, สืบค้น 20 ธันวาคม 2567 จาก https://www.nhso.go.th/news/3016
  5. “Economies of Scale : What Are They and How Are They Used?” (https:/www.investopedia.com/terms/e/economiesofscale.asp), Investopedia, Retrieved 12 April 2024.
  6. ความหวังสิทธิผู้ป่วยบัตรทอง “มะเร็งรักษาทุกที่” ชัดเจนหลัง 15 ม.ค. 68, สืบค้น 10 มกราคม 2568 จาก https://www.hfocus.org/content/2025/01/32695
  7. สมคิด พุทธศรี, มองคุณค่าของการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งผ่าน ‘Patient’s Journey’ เพื่อเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของนโยบาย ‘Cancer Anywhere’ และ ‘มะเร็งครบวงจร’ : บวรศม ลีระพันธ์ และภาณุวิชญ์ แก้วกำจรชัย, สืบค้น 10 มกราคม 2568 จาก https://www.the101.world/cancer-anywhere-bowornsom-and-phanuwich-interview/
  8. ข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ (ทั่วประเทศ) หรือ Cancer Anywhere, สืบค้น 10 มกราคม 2568 จาก https://www.nhso.go.th/news/3950
  9. ร้อยละของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยรังสีรักษาภายในระยะเวลา 6 สัปดาห์, สืบค้น 20 ธันวาคม 2568 จาก https://healthkpi.moph.go.th/kpi2/kpi-list/view/?id=1453
  10. บุรินทร์ วงศ์แก้ว, พัชยา ภัคจีรสกุล และวันนิสา ขันทิพย์, ระยะเวลารอคอยการรับบริการการฉายรังสีในเขตบริการสุขภาพที่ 1, โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง กรมการแพทย์
  11. พัชรินทร์ อุสาห์, วุธิพงษ์ ภักดีกุล และวรินทร์มาศ เกษทองมา, การศึกษาการเข้าถึงบริการการรักษาด้วยรังสีรักษาภายในระยะเวลาที่กำหนดของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่, วารสารการพัฒนาสุขภาพชุมชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี 11 ฉบับที่ 3 กรกฏาคม – กันยายม 2566
  12. ข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สปสชเตรียมหารรือหน่วยบริการทบทวนเงื่อนไขจ่าย Cancer Anywhere , สืบค้น 26 พฤกศจิกายน  2567 จาก 
Post Views: 44
Language »