การพยากรณ์โรคในมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (𝗟𝘆𝗺𝗽𝗵𝗼𝗺𝗮)

   คำถามที่พบบ่อยจากผู้ป่วยเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งคือ มีโอกาสการหายขาดหรือไม่ ซึ่งในทางการแพทย์จะใช้คำว่า การพยากรณ์โรค การใช้คำว่าพยากรณ์นั้นเนื่องมาจากการที่ไม่สามารถระบุได้ว่า หายขาดแน่ๆ หรือไม่หายแน่ๆ แต่มีข้อมูลว่าหากผู้ป่วยมีลักษณะเช่นนี้ จะแสดงถึงโอกาสการลุกลามมากน้อย แสดงถึงระยะของโรค แสดงถึงความสามารถในการตอบสนองต่อการรักษา ซึ่งเมื่อนำมาประกอบกันแล้ว จะใช้ในการพยากรณ์หรือบอกแนวโน้มของผลการรักษาได้

   เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แพทย์จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการรักษา ซึ่งในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นมีแนวทางการแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เนื่องจากเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองแต่ละชนิดตอบสนองต่อวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่แล้วมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งที่มีพยากรณ์โรคที่ดี มีโอกาสหายขาดสูง ปัจจัยที่มีผลต่อการพยากรณ์โรคได้แก่ 

  1. ชนิดของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยหากแบ่งกว้างๆเป็นชนิดฮอดจ์กิน ลิมโฟมา (Hodgkin 𝗟𝘆𝗺𝗽𝗵𝗼𝗺𝗮) และ นอนฮอดจ์กิน ลิมโฟมา (Non-Hodgkin lymphoma) พบว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน ลิมโฟมา (Hodgkin Lymphoma) มีโอกาสหายขาดสูงกว่า เนื่องจากการตอบสนองต่อการรักษาดีกว่าและโดยทั่วไปแล้วรูปแบบการกระจายของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin นั้น มักกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่ใกล้เคียง แต่ชนิด Non-Hodgkin มักกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ไกลตั้งแต่เริ่มแรก
  2.  ระยะของมะเร็ง ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งระยะ 1 มีโอกาสหายขาดสูงกว่าผู้ที่เป็นมะเร็งระยะ 4
  3.  ขนาดและการแพร่กระจาย ดูจากระดับ LDH หรือ Lactate Dehydrogenase ในเลือด ค่า LDH ที่ต่ำกว่า มีพยากรณ์โรคที่ดีกว่า
  4. อายุ โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยอายุน้อยจะทนต่อการรักษาได้มากกว่าผู้สูงอายุ
  5. รคประจำตัวอื่น เช่น HIV, โรคไต, โรคตับ หากมีโรคร่วมนี้อาจมีความจำเป็นต้องป้องกันผลข้างเคียงหรือปรับลดขนาดยา ซึ่งอาจส่งผลต่อการรักษา
    ผู้ป่วยที่มีอาการ B Symptoms ได้แก่ ไข้ไม่ทราบสาเหตุ น้ำหนักลดมากกว่า 10% ภายใน 6 เดือน และมีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน มักมีพยากรณ์โรคไม่ดี

   แพทย์เฉพาะทางมะเร็งจะแนะนำแนวทางที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย รวมถึงการปรับตัวในช่วงที่เข้ารับการรักษา ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองส่วนใหญ่สามารถทำงานหรือปฏิบัติหน้าที่ได้และยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีระหว่างรับการรักษา สิ่งสำคัญที่สุดและเป็นปัจจัยที่เพิ่มโอกาสการหายขาดได้แก่การเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุดตั้งแต่ได้รับการวินิจฉัย

Post Views: 99
Language »